SDG Move ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือและเปิดตัวโครงการ Gen C Climate Action

19 March 2021
Read : 2,443
SDG Move ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือและเปิดตัวโครงการ Gen C Climate Action เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

วันนี้ (19 มีนาคม 2564) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล  บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพและการเสริมสร้างความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ เปิดตัวโครงการ Gen C Climate Actions ร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และมหาวิทยาลัยภาคี เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่บน Digital Platform ที่สนใจ ให้ได้รับความรู้ เกิดความเข้าใจ และนำไปสู่การพัฒนาทักษะ สามารถนาไปปฏิบัติได้จริง ร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ณ ทรู ดิจิตอล พาร์ค

โครงการ Gen C Climate Actions  เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ TGO - Climate Action Academy ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโกบอลคอมแพ็ก (GCNT) SDG Move สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคการศึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัย ที่เข้ามาขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้พร้อมต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านศาสตร์ สาขาวิชาที่หลากหลาย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิททยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจะดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นระยะเวลาสามปี (พ.ศ. 2564 – 2566)

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรมจึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ระหว่างองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กับมหาวิทยาลัยในภาคีทั้ง 4 มหาวิทยาลัย มีสาระสำคัญมุ่งเน้นไปที่การร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีความสนใจ ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกการปรับตัวต่อ    การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่การปฏิบัติและสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการผ่านระบบ E-Learning ของสถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อใช้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับมหาวิทยาลัยร่วมกัน

ในช่วงท้ายของงานได้มีการจัดเสวนา “C Generation ร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน” โดยตัวแทนจากทั้งสี่มหาวิทยาลัยร่วมแลกเปลี่ยนถึงบทบาท ความสำคัญของภาคการศึกษาต่อการสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญถึงการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยได้นำเสนอถึงความพยายามจัดการเรียนการสอน  การผนวกเอาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในหลักสูตรของผู้เรียน และเห็นร่วมกันว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดพื้นที่การสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองจากทุกสาขาวิชาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว  

ในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอความเห็นว่า ภาวะโลกร้อนนั้นเป็นประเด็นท้าทายสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งการสร้างความตระหนักรู้ของพลเมืองนั้นมีความจำเป็นไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการริเริ่มลงมือทำเท่านั้น แต่ยังช่วยสะท้อนเสียงของสังคมไปสู่ผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภาะโลกร้อนถูกผลักดันเข้าไปอยู่ในวาระนโยบายที่ทุกระดับต้องดำเนินการอย่างจริงจัง    

สำหรับการดำเนินโครงการลำดับต่อไป จะเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาศในรูปแบบ E-Learning บนแพลตฟอร์มของ อบก. กับมหาวิทยาลัยภาคี และกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Active Learning) ภายใต้ชุด Gen C Climate Actions Programme ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดที่ http://www.tgo.or.th หรือ Facebook Fanpage องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)