ผลสำรวจวิจัย Foundational Skills ทักษะทุนชีวิต รากฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ของคนไทย

23 February 2024
Read : 918


ผลสำรวจวิจัย Foundational Skills ทักษะทุนชีวิต รากฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ของคนไทย


ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยทุกคนมากกว่า 66 ล้านคน กสศ. ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เชื่อว่าหากเด็กเยาวชน และกำลังแรงงานของไทยได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์แล้ว ประเทศไทยจะสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ด้วยพลังของคนไทยทุกคนภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ได้

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คลัสเตอร์ Human Resources, Innovation, and Development Economics โดย รศ.ดร.แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ และทีมวิจัย) จึงได้ร่วมกันจัดทำรายงานการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment in Thailand : ASAT) ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปีครบทุกภูมิภาคในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อค้นหากุญแจดอกสำคัญในการปลดล็อคศักยภาพของเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันตรงกับความต้องการทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติได้เพื่อสร้างห่วงโซ่นโยบาย หรือ Policy Value Chain ซึ่งเริ่มต้นจากการใช้ข้อมูลและผลการวิจัยที่มีคุณภาพสูงในระดับนานาชาติ สู่การกำหนดทิศทางนโยบายระดับชาติที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมความเสมอภาคผ่านการพัฒนาทุนชีวิตของประชากรวัยแรงงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทยให้ออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ

โดยรายงานวิจัยดังกล่าวได้มีการเผยแพร่ผลงานในการประชุมเวทีนโยบายระดับสูง: ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุม World Ballroom B โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ซึ่งจากการใช้เวลาศึกษาวิจัยของโครงการมากกว่า 2 ปี มีประเด็นข้อค้นพบที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
1) รายงานฉบับนี้แสดงขนาดของวิกฤตด้านทักษะทุนชีวิต(Foundational Skills) ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์และสังคม
2) รายงานฉบับนี้ได้ทบทวนสิ่งที่ภาคนโยบาย ภาคท้องถิ่น สถานศึกษา สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม และนายจ้าง ได้ดำเนินการเพื่อรับมือวิกฤตด้านทักษะ
3) รายงานฉบับนี้ ได้มีข้อเสนอแนะ ทางออกแก่ประเทศไทยในการสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะทุนชีวิตให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืน ซึ่งสามารถผลักดันได้จากการสร้าง สังคมแห่งการเรียนรู้ (learning society)

ติดตามอ่านและดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่ https://www.eef.or.th/publication-asat/

ขอขอบคุณข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา