ที่มาและการก่อตั้ง

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ระยะแรกเปิดสอนระดับปริญญาตรีเพียงสาขาเดียวคือ สาขานิติศาสตร์ ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ใช้อักษรย่อว่า ธ.บ. ในภาคที่ 5 และ 6 ของหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต มีวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ 2 วิชา คือ “เศรษฐศาสตร์” และ “ลัทธิเศรษฐกิจ” ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค เป็นผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นท่านแรก


ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค

ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ยกเลิกระบบการสอนแบบธรรมศาสตร์บัณฑิต และเปลี่ยนโครงสร้างคณะต่างๆ โดยได้ประกาศจัดตั้งคณะจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะเศรษฐศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย

ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค เป็นคณบดีคนแรก ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2492 มหาวิทยาลัยจึงแต่งตั้งศาสตราจารย์ ขุนประเสริฐศุภมาตรา เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์แทน


ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์

พ.ศ.2507

นับเป็นปีสำคัญของเศรษฐศาสตร์ และวงการเศรษฐศาสตร์ของไทย เนื่องเพราะเป็นปีที่ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เมื่ออาจารย์ ป๋วย รับตำแหน่งแล้ว ภารกิจสำคัญประการแรกคือ การสร้างอาจารย์ประจำ ท่านได้ขอ อัตราตำแหน่งอาจารย์ประจำเพิ่ม ติดต่อหาทุนเรียนต่อต่างประเทศให้อาจารย์รุ่นใหม่ๆ หาอาจารย์ชาวต่างประเทศมา ช่วยพื้นฟู ความรู้แก่อาจารย์ที่จะส่งไป เรียนต่อ และช่วยวางหลักสูตรให้ทันสมัยตามแบบอย่างมหาวิทยาลัยในอเมริกา โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ทำให้คณะเศรษฐศาสตร์ มีอาจารย์ประจำเพิ่มขึ้น จาก 6 คน เป็น 59 คนในเวลาเพียง 6 ปี

พ.ศ.2508

ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีภาคค่ำ และในปี พ.ศ. 2509 มีการประกาศใช้หลักสูตรปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ที่ได้มาตรฐานหลักสูตรแรก ของประเทศไทย ประกอบด้วย 4 สาขาวิชา ได้แก่ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ สถิติเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร และเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ และมีการสอน บางวิชาเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่ได้รับการคัดเลือกจากนักศึกษาปกติประมาณ 20 คนต่อรุ่น โดยที่ผู้สอน Visiting Professor จากความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ และนักศึกษากลุ่มนี้จะได้เรียนเป็นภาษาอังกฤษจำนวนวิชาเพิ่มขึ้นทุกปีจนปีที่ 4 จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษแทบทุกวิชา

พ.ศ.2512

ในปี พ.ศ. 2512 คณะเศรษฐศาสตร์ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ซึ่งถือได้ว่า เป็นหลักสูตรนานาชาติระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตรแรกในประเทศไทย การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ และเรียน เต็มเวลา โดยนักศึกษาได้รับทุนการศึกษาทุกคน

พ.ศ.2525

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 คณะเศรษฐศาสตร์ได้เปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษโครงการปริญญาตรี สำหรับนักศึกษาภาคภาษาไทย โดยสอนวิชาหลักเศรษฐศาสตร์ จำนวน 8 วิชาเป็นภาษาอังกฤษ และในปี พ.ศ. 2536 คณะได้เปิดโครงการปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติ โดยสอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา และเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ในปี พ.ศ. 2540 รวมทั้งยังได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์

พ.ศ.2554

คณะเศรษฐศาสตร์ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ

คู่มือเอกลักษณ์องค์กร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Faculty of Economics, Thammasat University
ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492
 
สีประจำคณะ : สีเขียว
สัญลักษณ์คณะ : ฟันเฟืองและรวงข้าว