ขอเชิญผู้ที่สนใจดาวน์โหลดหนังสือ "เศรษฐศาสตร์ ‘มัธยม’ : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" จัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10 กันยายน 2567
อ่าน : 2,388
ขอเชิญผู้ที่สนใจดาวน์โหลดหนังสือ "เศรษฐศาสตร์ ‘มัธยม’ : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" จัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Download ได้ที่: https://www.econ.tu.ac.th/archive/detail/119
"เศรษฐศาสตร์ ‘มัธยม’ : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน" และชื่อ ‘มัธยม’ ในหนังสือ ไม่ได้มีความหมายแค่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา แต่ยังหมายถึงขั้นกลางที่ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป ผู้สนใจทั่วไปจึงสามารถอ่านเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมได้ด้วย
หนังสือเล่มนี้เป็นผลลัพธ์ของภารกิจในการบริการวิชาการประการหนึ่งที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน คือการจัดอบรมความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ให้แก่ครูที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาสังคมศึกษาในระดับมัธยมศึกษา การอบรมทำให้คุณครูจำนวนหนึ่งเสนอแนะกับทางผู้จัดการอบรมว่าอยากให้คณะเศรษฐศาสตร์ฯ จัดทำหนังสือเสริมสำหรับความรู้เศรษฐศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ฯ จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำหนังสือนี้ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย อ.ณพล สุกใส ผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา ผศ.ดร.นภนต์ ภุมมา ผศ.สิทธิกร นิพภยะ และ ผศ.ดร.อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล และคณะทำงานชุดนี้ได้บรรลุข้อตกลงพื้นฐานว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการแนะนำองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และประเด็นทางเศรษฐกิจสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา บุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ได้สอนวิชาด้านเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก และสาธารณชนผู้สนใจทั่วไป
เศรษฐศาสตร์ ‘มัธยม : แง่มุมอันหลากหลายในชีวิตประจำวัน เล่มนี้จึงมีลักษณะของโครงสร้างและเนื้อหาที่จำเป็นต้องสร้างดุลยภาพระหว่างเป้าหมายที่ดูเหมือนจะมีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง ในด้านหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ต้องย่อยความรู้วิชาเศรษฐศาสตร์ให้ผู้อ่านที่อยู่ในระดับ ‘มัธยม’ ศึกษาและผู้สนใจทั่วไปสามารถเพลิดเพลินไปกับประเด็นในวิชาเศรษฐศาสตร์ ผ่านเนื้อหาที่เข้าใจได้อย่างไม่ต้องปีนป่ายบันไดทางปัญญามากนัก และยังเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้อ่าน แต่ในอีกด้านหนึ่ง โครงสร้างและเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไม่ควรถูกย่อยจนง่ายต่อการแสวงหาความรู้ที่อาศัยชุดความคิดสำเร็จรูปจนเกินไป เพราะการย่อยในลักษณะข้างต้นนำไปสู่การลดทอนความซับซ้อนของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีทั้งความกว้างและความลึกในประเด็นอันหลากหลาย หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่ตำราทำความเข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างเร่งรัดที่มีจุดประสงค์ในการอ่านเพื่อทบทวนสำหรับการสอบในระดับต่าง ๆ แต่มีความมุ่งหมายในการเป็นบทแนะนำระดับ ‘มัธยม’ ซึ่งหมายถึงระดับปานกลาง ไม่มากไม่น้อยเกินไป เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเดินทางค้นหาความรู้ต่อไป
การออกแบบโครงสร้างเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จึงพยายามบรรลุถึงการเสนอองค์ความรู้พื้นฐานแก่สังคม และสะท้อนตัวตนของคณะเศรษฐศาสตร์ฯ ที่เปิดวิชาเศรษฐศาสตร์ในสาขาวิชาอันหลากหลาย โครงสร้างของหนังสือจึงประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 10 บท เพื่อสะท้อนถึงทางเลือกในรายวิชาที่คณะเศรษฐศาสตร์ฯ ได้แบ่งออกเป็นหมวดย่อยเพื่อจัดบริการให้นักศึกษา อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในแต่ละบทไม่สามารถครอบคลุมประเด็นและข้อถกเถียงทางวิชาการในหมวดย่อยได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากความจำกัดของจำนวนหน้าที่ไม่สามารถเป็นภาชนะรองรับเนื้อหาของแต่ละบทที่ลึกล้ำและกว้างขวางพอที่จะเขียนเป็นหนังสือเล่มหนึ่งได้เลย ดังนั้น แต่ละบทจึงพยายามเชื่อมโยงประเด็นที่เจาะจงในหมวดย่อยของวิชาที่คณะเศรษฐศาสตร์ฯ จัดการเรียนการสอน เข้ากับประเด็นหลักของความรู้ทางเศรษฐศาสตร์
สามบทแรกของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับภาพใหญ่ของความรู้ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจและวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยบทที่ 1 แนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับประเด็นหลักเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) อันเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ผ่านความรู้ในหมวดย่อยของสาขาวิชาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ (economic theory) เพราะถึงที่สุดแล้ว ทฤษฎีเหล่านี้ไม่ได้ศึกษาเพียงแค่วิธีการจัดสรรทรัพยากรอย่างจำกัดภายใต้เงื่อนไขที่ความต้องของการของมนุษย์มีอยู่อย่างไม่จำกัด อันเป็นนิยามพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ในหลายครั้ง ทฤษฎีเหล่านี้ยังพยายามหาคำตอบของการทำงานของระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองด้วย หลังจากนั้น บทที่ 2 เชื้อชวนผู้อ่านเข้าไปสำรวจข้อถกเถียงว่าด้วยมนุษย์ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มักเริ่มต้นการวิเคราะห์ด้วยการสมมติว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ (homo economicus) บทที่ 2 ใช้ข้อถกเถียงข้างต้นเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจพื้นฐานว่าด้วยหมวดย่อยของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ (quantitative economics) ที่นัก (เรียน) เศรษฐศาสตร์ใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจและวิเคราะห์พฤติกรรมของตัวละคร ทั้งปัจเจก ครัวเรือน บรรษัท หรือกระทั่งภาครัฐ ที่โลดแล่นในระบบเศรษฐกิจ ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเงิน ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ทำให้ตัวละครในระบบเศรษฐกิจสามารถเชื่อมโยงกันได้ จะปรากฏในบทที่ 3 ของหนังสือ และบทนี้ยังบรรยายประเด็นพื้นฐานในหมวดย่อยของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเงิน (monetary economics) ที่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างเงินกับระบบเศรษฐกิจได้
เนื้อหาของบทที่ 4 บทที่ 5 บทที่ 6 และบทที่ 7 มีแกนหลักอยู่ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันเป็นพื้นฐานของการอาศัยอยู่ในสังคมของมนุษย์ โดยกิจกรรมดังกล่าว ได้แก่ การผลิต การแข่งขัน การเข้ามาแทรกแซงของภาครัฐ และการแลกเปลี่ยน โดยบทที่ 4 ใช้ความรู้ในหมวดย่อยของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร (agricultural economics) ในการฉายภาพของกระบวนการผลิตในระบบเศรษฐกิจ เพราะความรู้ในหมวดข้างต้นช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นทั้งกิจกรรมทางการผลิตที่วางอยู่บนฐานของการประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ พร้อมไปกับการพิจารณาความเสี่ยงอันเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผลสำเร็จ/ความล้มเหลวขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่ผู้ผลิตเข้าไปกำหนดโดยตรงได้ยากอย่างสภาพอากาศหรือความเปลี่ยนแปลงในสภาวะตลาด ในขณะที่ประเด็นหลักว่าด้วยการแข่งขันถูกถ่ายทอดในบทที่ 5 ซึ่งเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับหมวดย่อยในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม (industrial economics) เพราะความรู้ในสาขาวิชาดังกล่าวช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงผลของโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีต่อการกำหนดรูปแบบการแข่งขันในแต่ละตลาด ขณะเดียวกัน ประเด็นของการแข่งขันยังช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าทำไมทางเลือกในการบริโภคหรือการใช้สอยสินค้าอุตสาหกรรมแต่ละชนิดจึงแตกต่างกัน สำหรับความรู้ในวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ (public economics) ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประเมินผลลัพธ์ของการแทรกแซงโดยภาครัฐ เป็นแกนหลักของบทที่ 6 โดยเนื้อหาในบทนี้ช่วยฉายภาพให้ผู้อ่านเห็นการทำงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทางเศรษฐกิจของพวกเขา ทั้งการแสวงหารายได้ (เช่น การเรียกเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ) และการใช้จ่ายของรัฐ (เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการจ่ายค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รัฐ) เพราะกิจกรรมเหล่านี้ของภาครัฐส่งผลต่อการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรทั้งในระดับปัจเจกและสังคม ส่วนบทที่ 7 ชวนผู้อ่านขบคิดประเด็นหลักว่าด้วยการแลกเปลี่ยนผ่านข้อถกเถียงในหมวดย่อยของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (international economics) เพราะความรู้ในสาขาวิชานี้มุ่งเป้าไปยังคำถามที่ว่า ระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะของความอุดมสมบูรณ์/ความขาดแคลนของทรัพยากรและระดับของการพัฒนาที่ต่างกัน มีรูปแบบของการแลกเปลี่ยนไปในทิศทางใดบ้าง และการแลกเปลี่ยนระหว่างระบบเศรษฐกิจที่ต่างกันเกิดขึ้นได้อย่างไร
สำหรับเนื้อหาของสามบทสุดท้าย (บทที่ 8 บทที่ 9 และบทที่ 10) เสนอประเด็นหลักทางวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ในหลายครั้งเข้าไปคาบเกี่ยวกับมิติอื่นในสังคม ประเด็นข้างต้น ได้แก่ เรื่องงาน กรรมสิทธิ์ และการพัฒนา โดยบทที่ 8 แนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับความรู้ในหมวดย่อยของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์แรงงาน (labor economics) เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจบทบาทของงานที่เป็นทั้งกิจกรรมหนึ่งของระบบเศรษฐกิจและเงื่อนไขพื้นฐานในการดำรงชีวิตทางสังคมของมนุษย์ บทที่ 8 ยังคาดหวังว่าผู้อ่านสามารถจินตนาการถึงชีวิตของตนเองในอนาคต ซึ่งลักษณะพื้นฐานของงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนบทที่ 9 ใช้ความรู้ในหมวดย่อยของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (natural resource and environmental economics) เพื่อนำผู้อ่านเข้าสู่การถกเถียงว่าด้วยระบบกรรมสิทธิ์ เพราะในหลายครั้ง ปัญหาและอุปสรรคในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมช่วยให้ผู้อ่านตระหนักถึงลักษณะพื้นฐานและความสำคัญของกรรมสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นและการแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาด (market failure) และหนังสือเล่มนี้ส่งท้ายส่วนของเนื้อหาหลักด้วยการอภิปรายประเด็นหลักของการพัฒนาผ่านความรู้ในหมวดย่อยของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (development economics) ในบทที่ 10 เพราะความรู้ในหมวดนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างคำนิยามและการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนา อันเป็นเป้าหมายสำคัญของระบบเศรษฐกิจหลายแห่ง ในปัจจุบัน ประเด็นของการพัฒนาไม่ได้เกี่ยวข้องกับมิติด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังผนวกรวมเป้าหมายด้านอื่น ๆ อย่างการยกระดับของสถาบันทางสังคมและการรักษาสภาพแวดล้อมให้ยั่งยืนอีกด้วย
เนื้อหาทั้ง 10 บทมีวัตถุประสงค์เพื่อตอกย้ำให้ผู้อ่านเห็นความเชื่อมโยงของวิชาเศรษฐศาสตร์กับชีวิตประจำวันที่มีแง่มุมอันหลากหลายของผู้คน พร้อมกับชี้ชวนให้ผู้อ่านเดินทางศึกษาความรู้ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่นอกเหนือจากหนังสือเล่มนี้ กระนั้น คณะผู้จัดทำอยากแจ้งผู้อ่านว่าความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหมวดย่อยของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ (political economy and economic history) ปรากฏอยู่ในเนื้อหาหลักทั้ง 10 บท ในรูปแบบของกรอบเนื้อหาเสริม โดยผู้อ่านสามารถข้ามการอ่านกรอบเนื้อหาเสริมเหล่านี้หากมีข้อจำกัดด้านเวลาหรือความสนใจ เพราะการข้ามเนื้อหาเสริมเหล่านี้ไม่มีผลต่อการบรรลุความเข้าใจหลักในแต่ละบท แต่ถึงที่สุดแล้ว คณะผู้จัดทำอยากชวนผู้อ่านให้ชายตาไปยังกรอบเนื้อหาเสริมเหล่านี้บ้าง เนื่องด้วยผู้จัดทำจัดวางเนื้อหาเสริมเหล่านี้ในฐานะของสื่อที่มุ่งหมายให้ผู้อ่านตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์เศรษฐกิจและเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมที่รายล้อม ดังที่สาขาวิชาสังคมศาสตร์ทั้งหลายได้กล่าวในทำนองว่า ระบบเศรษฐกิจไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่อาศัยอยู่ในระบบการเมืองและระบบสังคมที่ต่างกัน ดังนั้น การเข้าถึงความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจพลวัตของระบบเศรษฐกิจอย่างครบถ้วน จึงหลีกเลี่ยงการศึกษาเรียนรู้ความรู้แขนงอื่นไปไม่พ้น
ในส่วนของการอ่านหรือใช้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านจะสังเกตว่าคำศัพท์บางคำในเนื้อหาเป็นตัวเอียง คำศัพท์เหล่านี้จะถูกเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษแล้วรวบรวมไว้ในศัพทานุกรมท้ายเล่มเพื่อขยายความให้ผู้อ่านเข้าใจคำศัพท์แต่ละคำได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของเนื้อหา คณะผู้จัดทำอยากเรียนเชิญให้ผู้อ่านที่มีความพร้อมด้านทรัพยากร เวลา และกำลัง ได้อ่านเนื้อหาของหนังสือนี้อย่างครบถ้วน เพื่อตระหนักและเข้าใจถึงภูมิทัศน์ภาพใหญ่ของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เป็นองค์ความรู้อันเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ เนื่องจากคณะผู้จัดทำพยายามร้อยเรียงเนื้อหาแต่ละบทที่มีประเด็นอันหลากหลายให้แนบเนียนที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่คณะผู้จัดทำก็ขอแจ้งผู้อ่านว่า ถ้าหากประสบกับความท้าทายหรือข้อจำกัดบางประการ ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านเฉพาะบทที่เกี่ยวข้องกับความรู้ในสาขาวิชาที่ตนเองสนใจ เพราะเนื้อหาในแต่ละบทสามารถศึกษาแบบแยกขาดออกจากกันได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คณะผู้จัดทำคาดหวังว่าผู้อ่านจะได้ทั้งความเพลิดเพลินและประโยชน์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าพวกท่านเลือกวิธีการอ่านแบบใดก็ตาม
สุดท้ายนี้ คณะผู้จัดทำขอขอบคุณคณะเศรษฐศาสตร์ฯ ที่มอบทั้งทรัพยากรและความเชื่อใจในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ พร้อมกับการเห็นถึงความสำคัญของการผลิตเอกสารเผยแพร่งานวิชาการขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สังคมไทยมีทางเลือกในการเข้าถึงความรู้ขั้นพื้นฐานที่เปิดกว้างขึ้น ขอขอบคุณนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ 4 ท่านและคุณครูจากโรงเรียนมัธยม 8 ท่าน ที่สละเวลาอ่านต้นฉบับของหนังสือเพื่อแสดงความเห็น และขอขอบคุณผู้ประสานงานธุรการทั้ง 2 ท่าน ได้แก่ คุณธนธรณ์ พึ่งเมฆ และคุณภิชญาดา เครือวิทย์ ที่ช่วยให้กระบวนการด้านงบประมาณและการรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้อ่านเป็นไปอย่างราบรื่น